เล่าเรื่องเมืองบางพระ

บางพระเป็นเมืองเก่า ในแผนที่ไตรภูมิโบราณ เมืองชายฝั่งทะเลตะวันออกปรากฏชื่อบางทราย บางปลาสร้อย บางพระเรือ (บางพระ) และบางละมุง ซึ่งในแผนที่ดังกล่าวไม่มีเมืองชลบุรี เพราะเมืองชลบุรี เพิ่งปรากฏในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นนี้เอง สภาพพื้นที่ตั้งของเมืองบางพระด้านทิศตะวันตกติดกับฝั่งทะเล ด้านทิศตะวันออกเป็นเนินเขาสูงที่อุดมสมบูรณ์ด้วยป่าไม้

และสัตว์ป่ามีลำธารไหลจากภูเขา ผ่ากลางพื้นที่ไหลลงสู่ทะเล ทำให้พื้นที่ถูกแบ่งออกเป็น ๒ ลักษณะ คือทางด้านทิศเหนือ เป็นที่ราบลุ่มเหมาะแก่การทำนาปลูกข้าว ทางด้านทิศใต้เป็นที่เนินเขาเหมาะแก่การทำไร่ทำสวน

ลำธารหรือคลองชื่อว่าคลองสุครีพ แต่ก่อนไหลคดเคี้ยวไปออกทะเล หลังวัดบางพระต่อมาประมาณ ปี พ.ศ. ๒๔๗๖ (จากคำบอกเล่าของนางผวน สุขใจ) ฝนตกหนักน้ำในคลองไหลแรงขนาดพัดพากอไผ่ลอยมาเป็นกอ ทำให้คลองทะลุออกสู่ทะเลเป็นเส้นตรง (เหมือนดังปัจจุบัน) ทำให้ปากคลองสุครีพ กว้างมากในขณะนั้น จนเป็นที่พักของเรือหลบคลื่นลม และขนถ่ายสินค้าทางการเกษตรไปกรุงเทพฯได้ คลองสุครีพได้เสื่อมสภาพลงหลังจากมีการสร้างอ่างเก็บน้ำบางพระ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๖ ทำให้ไม่มีน้ำไหลลงคลองได้ตามธรรมชาติประกอบกับมีบริษัทแป้งมันเอสอาร์ มาก่อตั้งโรงงานแป้งมัน ซึ่งเป็นโรงงานที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยผลิตแป้งมันสำปะหลังกันเต็มที่ และผลร้ายก็ติดตามมา เมื่อบริษัทปล่อยกากแป้งมันลงคลอง ทำให้คลองเน่าเหม็น ตั้งแต่หลังเขื่อนเก็บน้ำไปถึงตลาดปากคลอง ปู ปลา กุ้ง หอย ที่เคยมีอย่างชุกชุม ตายและหนีหายไปหมด หาดทรายขาวสะอาดก็สกปรกเป็นโคลนเลน ประชาชนจึงร้องเรียนทางราชการ มีผลให้โรงงานเลิกกิจการไปในที่สุด

ประชากรของบางพระแต่เดิมเป็นคนไทยเชื้อสายจีนเป็นส่วนมากเพราะคนอื่นอพยพ และมาตั้งรกรากอยู่แถบชายทะเล ทำการค้าและมีไร่นาอยู่ทางด้านฝั่งตะวันออกของถนนสุขุมวิท เมื่อมีการก่อสร้างถนนสุขุมวิท (โดยพระพิศาลสุขุมวิท ซึ่งเป็นบุตรคนที่ ๓ ของเจ้าพระยายมราช) เปิดการเดินรถยนต์ขึ้น ประชาชนจึงขยับขยายออกมาปลูกบ้านข้างถนนสุขุมวิทซึ่งเรียกว่าตลาดใหม่ เพราะการคมนาคมสะดวกกว่าการเดินทางด้วยเรือไปกรุงเทพฯ

แต่เดิมเมืองบางพระมีความเจริญรุ่งเรืองมาก มีฐานะเป็นอำเภอ มีวัดสว่างอารมณ์ (วัดบางพระ) ซึ่งเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี มีเจดีย์และโบสถ์ ที่รัฐกาลที่ ๔ ทรงโปรดให้ก่อสร้างและบูรณะ มีกองทหารเรือประจำซึ่งรัฐกาลที่ ๕ ทรงโปรดให้กรมหลวงชุมพร เขตอุดมศักดิ์ (พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์) จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๕ เพื่อดูแลปกป้องและปราบปรามโจรสลัดซึ่งรบกวนปล้นสดมเรือพาณิชย์ที่เดินทางสัญจรค้าขายตามชายฝั่งทะเลจากกรุงเทพฯ ถึงตราด ซึ่งรัฐกาลที่ ๕ เคยประสบมาด้วยพระองค์เองที่ช่องแสมสาร สัตหีบ เมื่อทรงเสด็จประพาสจันทบุรี เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๙

บางพระมีบ่อน้ำพุร้อนที่มีชื่อเสียงมานาน ซึ่งรัฐกาลที่ ๙ เคยเสด็จมาแวะชม เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๗ มีน้ำตกที่สวยงาม นามว่าน้ำตกชันตาเถร มีเทือกเขาและป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ ปีพ.ศ. ๒๔๔๓ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพเสด็จมาตรงพื้นที่ป่าเขาและทำไร่อ้อยที่บางพระ

การที่บางพระเป็นเมืองเก่ามาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ทำให้มีวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีที่สืบสานสืบทอดกันมาน เช่น ประเพณีกองข้าวและประเพณีแห่พญายม ที่จัดขึ้นในเทศกาลงานสงกรานต์ โดยเฉพาะประเพณีแห่พญายมของชาวบางพระ  เป็นประเพณีหนึ่งเดียวในโลก ซึ่งได้ประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติแล้วในวันที่ ๓ กันยายน ๒๕๕๖

ต่อมาเมื่อชุมชนที่ศรีราชา มีความหนาแน่นขึ้น อันเป็นผลมาจากเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี อดีตเสนาบดีกระทรวงเกษตร ได้ขอสัมปทานป่าไม้และตั้งโรงเลื่อยจักรใหญ่ ขึ้นที่ศรีราชา (บริษัทศรีมหาราชา) ประกอบกับมีโรงพยาบาลสมเด็จ ณ ศรีราชา ก่อตั้งขึ้น และกองทหารเรือที่บางพระได้ยุบตัวลง ทางราชการจึงย้ายอำเภอบางพระมาตั้งที่ศรีราชา เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๖ แต่ก็ยังใช้ชื่อว่า อำเภอบางพระอยู่   จนถึงปี พ.ศ.๒๔๕๙ จึงเปลี่ยนมาใช้ชื่อว่าอำเภอศรีราชา ส่วนบางพระกลับกลายเป็นตำบลหนึ่งของอำเภอศรีราช

ประเพณีกองข้าวของชาวบางพระ

เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมานานมาก หลายรุ่นอายุคนจัดขึ้นในเทศกาลงานประเพณีสงกรานต์ โดยก่อนถึงงานสงกรานต์ในตอนเย็น-กลางคืน ชาวบ้านจะช่วยกันขนทรายเข้าวัดเพื่อร่วมกันก่อพระเจดีย์ทรายแข่งกันในวันมหาสงกรานต์ และทำบุญฉลองพระเจดีย์ทรายที่ก่อขึ้น หลังจากนั้นการทำบุญ พระจากวัดบางพระจะออกไปทำบุญเช้าตามจุดต่างๆ เช่น ที่ชายทะเล บ่อทำบุญ หัวโขด กลางบ้าน ตลาดใหม่ และการทำบุญนอกวัด วันสุดท้ายของงานสงกรานต์จะจัดที่ชายหาดปากคลองสุครีพ (คลองบางพระ) ที่มีชายหาดกว้างและสะอาด โดยภาคเช้าจะจัดทำบุญถวายภัตตาหารเช้าพระ ส่วนในภาคเย็นจะจัดงานกองข้าว ของชาวสองฝั่งคลอง (คือฝั่งคลองทิศเหนือและทิศใต้)

วัตถุประสงค์ของการจัดงานกองข้าว

๑.       เพื่อเสริมสร้างความสามัคคีระหว่างประชาชนสองฝั่งคลอง

เพราะแต่ก่อนประชาชน ๒ ฝั่งคลองมีจำนวนใกล้เคียงกันแต่ประกอบอาชีพหลากหลายแตกต่างกัน มักมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกันอยู่เสมอ การจัดงานกองข้าวขึ้นทำให้ประชาชนทุกหมู่เหล่าทุกเพศทุกวัย มีโอกาสพบกัน มาทานอาหารร่วมกันโดยทุกครอบครัวนำอาหารมาแล้วแลกเปลี่ยนอาหารกันทาน มีการทักทาย หยอกล้อกัน ทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน

๒.     เพื่อเซ่นสังเวยสัมพเวสี ( ผีป่า ผีเร่ร่อน ผีไม่มีญาติ ผีพราย )

สภาพพื้นที่ของบางพระ มีทั้งทะเลและป่าเขา แต่ละปีชาวประมงที่ออกหาปลาหรือชาวเกาะสีชังที่นำเรือมาบรรทุกน้ำที่บางพระ (น้ำจากบ่อทำบุญ ซึ่งอยู่ติดกับร้านอาหารติดดินในปัจจุบัน)  เจอคลื่นลมในทะเลจนเรือจมเสียชีวิต หรือคนที่ข้ามลำคลอง จมน้ำตายเป็นประจำ และที่ร้ายแรงเมื่อคนเข้าป่าล่าสัตว์หาของป่า หรือตัดไม้เพื่อเข้าโรงเลื่อยได้ติดเชื้อไข้ป่า (มาลาเรีย) ทำให้เชื้อมาลาเรียแพร่เข้ามาในชุมชนบางพระส่งผลให้ผู้คนเป็นไข้ล้มตายกันมาก (เพราะสมัยก่อนไม่มีโรงพยาบาลมีแต่หมอพื้นบ้านและมีความเชื่อเรื่องผีสาง)

การเซ่นสังเวยสัมพเวสีก็เพื่อให้สัมพเวสีละเว้นทำร้ายผู้คนทำให้คนปลอดโรค ปลอดภัย

๓.     เพื่ออนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณี การละเล่นพื้นบ้าน

ในงานตอนเย็นจะมีการอุ้มสาวลงน้ำ (เกาะสีชังนำเอาไปใช้แล้วเป็นประเพณี) การแข่งชักกะเย่อ ของคน ๒ ฝั่งคลอง การเล่นตี่จับ  มอญซ่อนผ้า  ลูกช่างรำ และกลางคืนจะเล่นเข้าผีแม่ศรี ฯลฯ สนุกสนานสำหรับคน ๒ ฝั่งคลอง

วิธีการ

                – ตอนเย็นก่อนวันงาน จะนิมนต์พระจากวัดบางพระวรวิหารมาสวดมนต์เย็น

                – เช้าวันรุ่งขึ้นจะมีการทำบุญถวายอาหารพระ บริเวณชายหาดปากคลอง บางพระ

                – ประมาณ ๑๖.๐๐ น.ชาวบ้านแต่ละบ้านจะทำอาหารคาวหวาน ผลไม้ มาที่ชายหาดแล้วตักอาหารใส่กระทงใบตอง เพื่อนำไปรวมกัน สำหรับเซ่นสังเวยสัมพเวสีส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งตักแจกผู้มาร่วมงานเพื่อทานอาหารร่วมกัน

                – พระสงฆ์ทำพิธีสวดมนต์ ทางศาสนา

                – พิธีกรท่องคาถาจุดธูปเชิญสัมพเวสีมากินอาหารที่ชาวบ้านจัดใส่กระทงใบตองทิ้งรวมกันไว้ จนธูปไหม้หมดดอกจึงเป็นอันเสร็จการสังเวยสัมพเวสี

                – จากนั้นจะเป็นการแลกเปลี่ยนอาหารกันรับประทานโดยแต่ละบ้านจะตักอาหารใส่กระทงแจกแบ่งกันรับประทาน โดยไม่จำกัดหวงอาหารกันเพราะอาหารที่นำมาจะไม่เหลือนำกลับบ้านอีก

                – ขณะรับประทานอาหารร่วมกัน ก็มีการเล่นกีฬาพื้นบ้าน เพื่อความสนุกสนานและเรื่องความสามัคคีใครที่ทะเลาะเบาะแว้งกัน ก็จะมีผู้ใหญ่มาไกล่เกลี่ยให้คืนดีกัน เพราะชาวบางพระส่วนใหญ่เป็นพี่น้องกันนับญาติกันได้

                – ตกกลางคืน จะเล่น “เข้าผีแม่ศรี” ซึ่งจะเล่นตามลานบ้านของแต่ละหมู่แต่ละกลุ่ม

**           ประเพณีกองข้าวของชาวบางพระเกิดและสืบทอดกันมา หลายชั่วอายุคน ต่อมาภายหลัง พ.ศ. ๒๕๐๐ มีการสร้างอ่างเก็บน้ำบางพระ ( พ.ศ. ๒๔๙๖ ) ทำให้คลองบางพระเป็นคลอง ประกอบกับบริษัทแป้งมัน เอสอาร์ จำกัด ปล่อยกากแป้งมันสำปะหลัง ลงคลองทำให้คลองที่มีน้ำใสเปลี่ยนเป็นน้ำ เน่าเห็นเป็นโคลน จนไม่สามารถจัดงานกองข้าวที่ปากคลองได้  งานกองข้าวของชาวบางพระจึงไปจัดที่บริเวณ “บ่อทำบุญ” ซึ่งห่างจากวัดบางพระวรวิหารไปทางทิศเหนือประมาณ ๕๐๐ เมตร โดยจัดวันที่ ๑๕ เมษายน ปัจจุบันทางองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นให้การสนับสนุนการจัดงาน

***         งานกองข้าวของชาวศรีราชาเกิดหลังบางพระ เพราะบางพระเป็นเมืองมาก่อนคนที่ทำงานกองข้าวไปจัดที่ศรีราชา คือ คุณพ่อจุ๊ย ใจชุ่มชื่น (คุณพ่อ ผศ.ประเสริฐ ใจชุ่มชื่น เจ้าของโรงเรียนประเสริฐสุข) ท่านเป็นคนพื้นเพอยู่บ้านในซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา โดยนำไปจัดที่ชายหาดที่นั่น ต่อมาเทศบาลเมืองศรีราชาจึงนำมาจัดที่สวนสุขภาพ หน้าเกาะลอย ศรีราชา

ประเพณีแห่พญายม บางพระ

มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ประกาศขึ้นทะเบียนเมื่อวันที่ ๓ กันยายน ๒๕๕๖

เป็นประเพณีที่สืบต่อเนื่องมาจากประเพณีกองข้าวของชาวบางพระ โดยมีคำถามที่ค้างคาใจชาวบางพระมานานว่า สัมพเวสีที่ชาวบางพระอัญเชิญมากินอาหารที่เซ่นสังเวยจะคงอยู่วนเวียนอยู่ในพื้นที่บางพระ ทำร้ายผู้คนให้เจ็บป่วย และเกิดเภทภัยต่างๆ ทำอย่างไรจึงจะทำให้สัมพเวสีเหล่านี้ ออกไปจากพื้นที่บางพระได้ จึงมีผู้คิดถึงพญายมซึ่งเป็นเจ้าแห่งผี  ผีเกรงกลัวพญายม นั่นจึงเป็นมูลเหตุของการสร้างองค์พญายม บูชาพญายม แห่พญายม เซ่นไหว้พญายม และฝากความทุกข์โศก โรคภัย และ สัมพเวสีทั้งหลายไปกับพญายม จึงมีประเพณีแห่พญายมเกิดขึ้นที่บางพระ ซึ่งจากคำบอกเล่าของ คุณพ่อหวัง บรรเจิด (เกิด พ.ศ. ๒๔๔๖ เสียชีวิต พ.ศ. ๒๕๓๔ อดีตพิธีกรทางศาสนา วัดบางพระวรวิหาร)  บอกว่าประเพณีแห่พญายมของชาวบางพระเกิดขึ้นมานานแล้ว แต่เกิดหลังประเพณีกองข้าวของชาวบางพระ โดยบอกเล่าว่า

กำนัน เป๊ะ  บัวเขียว  ซึ่งเป็นกำนันตำบลบางพระ บ้านอยู่ห่างจากปากคลองบางพระ ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ประมาณ ๒๐๐ เมตร ได้ชักชวนลูกบ้านใกล้เคียง สร้างองค์พญายมขึ้น โดยใช้วัสดุง่ายๆ เช่นโครงไม้ไผ่สาน เป็นโครงร่างกาย องค์พญายม ศรีษะก็ใช้หม้อดิน ดวงตาใช้ผลหมากสุก แล้วใช้กระดาษปูนซีเมนต์ ประกอบโครงร่างให้ดูแลน่าสะพรึงกลัว และมีความสง่างามมีอำนาจไปในตัว เมื่อสร้างองค์พญายมเสร็จก็จะใช้กลองยาว (บ้านกำนัน เป๊ะ บัวเขียว มีวงกลองยาว ) แห่องค์พญายมไปยังปากคลองเพื่อบวงสรวงบูชาพญายมโดยพิธีกรพื้นบ้าน  ถือเป็นเคล็ดให้องค์พญายมหันพระพักตร์ ไปทางทะเล (ทางทิศตะวันตก) ห้ามตั้งที่ประทับ (แพ) หันพระพักตร์ ไปทางทิศตะวันออก (หันพระพักตร์ขึ้นมาทางบก) เป็นอันขาด ด้วยเหตุผลที่ว่าให้องค์พญายมนำความทุกข์โศก โรคภัยไข้เจ็บ ออกไปให้พ้นจากบางพระ

เมื่อขบวนแห่องค์พญายมมาถึงบริเวณงานและจัดตั้งองค์พญายามบนที่ประทับแล้ว จะเป็นพิธีเซ่นสังเวยสัมพเวสี และบวงสรวงพญายม เสร็จพิธีบวงสรวงพญายมแล้วชาวบ้านจะจุดธูปคนละ ๑ ดอกปักตรงหน้าที่ประทับขององค์พญายม อธิษฐานขอให้องค์พญายมนำสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลาย ความเจ็บป่วยผีสาง มารร้าย ไปจากครอบครัวของตน

ยามตะวันจะลับขอบฟ้าชาวบ้านจะช่วยกันแบกหามแพ แท่นประทับองค์พญายม เดินลุยน้ำในคลองลงทะเลให้ลึกที่สุดแล้วปล่อยแพ องค์พญายมให้กระแสน้ำในคลองพัดแพลอยออกไปในทะเลลึก โดยชาวบ้านจะยืนดู แพลอย ตะคุ่มๆออกไปจนลับสายตา ก็พอดีเวลามืดค่ำ ความเลวร้ายต่างๆ ก็มลายหายไปกับชาวตำบลบางพระเพราะได้ฝากพญายมไปแล้ว 

ต่อมาในปีพ.ศ.๒๔๙๖การสร้างองค์พญายม ได้ย้ายมาทำอีกฝั่งหนึ่งของปากคลอง คือย้ายมาทำที่บ้าน นายต๋อย  สุขสวัสดิ์ ซึ่งอยู่ติดกับชายทะเล อยู่หลังวัดเขาบางพระ ห่างจากปากคลองประมาณ ๔๐๐ เมตร โดยมีนายต๋อย สุขสวัสดิ์ นายอิน บัวเขียว (หลานกำนันเป๊ะ) นายอำนวย บรรเจิด นายชม บรรเจิด นายเสนียน นายแล่มและพรรคพวก เพื่อนบ้านใกล้เคียงช่วยกันทำ รูปองค์พญายมก็เน้นถึงความน่ากลัว น่าเกรงขาม ใช้วัสดุก่อสร้างง่ายๆ เหมือนเดิม ขบวนแห่นำด้วยกลองยาว จากบ้านนายต๋อย ผ่านข้างวัดเขาบางพระ ข้ามสะพานหน้าวัด วิเวกการาม แล้วข้ามคลองลงไปยังชายหาดปากคลองบางพระ

                ประมาณปี พ.ศ.๒๕๐๗ การสร้างพญายมได้ย้ายมาทำที่ต้นพุทราบริเวณมุมร้านค้า นาย ผ่อง คุระ และร้านค้าของนายหวัง บรรเจิด ซึ่งเป็นที่รอรถโดยสารไปหนองตายาย ทางตรงและโค้งดารา (ทางแยกคอเขาบางพระ) โดยมีการทำบุญตักบาตร และเลี้ยงภัตตาหารพระในตอนเช้า และมีขบวนกลองยาวแห่ องค์พญายมในตอนบ่ายโดยแห่ผ่านทางตลาดใหม่ ผ่านหน้าวัดบางพระวรวิหารไปปากคลอง ชายทะเลบางพระแล้วทำพิธีบวงสรวงและปล่อยพญายมลงทะเลในเวลาเย็นพลบค่ำ

                 ต่อมามีการเวณคืนที่ดิน บริเวณคอเขาเพื่อขยายทางรถยนต์และก่อสร้างทางรถไฟ การสร้างองค์พญายม จึงย้ายไปทำที่บ้านนายอิ้น บัวเขียว ซึ่งอยู่ห่างจากทางแยกคอเขาบางพระไปทางทิศตะวันออก ประมาณ ๒๐๐ เมตรทำอยู่ได้  ๒ ปีจึงย้ายมาทำที่หน้าบ้านของนายทรวง เสริมศรี  โดยมีลูกๆของนายทรวงและเพื่อนบ้านช่วยกันทำ (บ้านนายทรวงอยู่ห่างจากทางแยกคอเขาบางพระประมาณ ๑๕๐ เมตร)

เมื่อการเมืองท้องถิ่นเห็นความสำคัญ ของประเพณีแห่พญายมจึงได้ยื่นมือเข้าช่วยเหลือ (ตั้งแต่สมัยเป็นสุขาภิบาลตำบลบางพระ จนมาเป็นเทศบาลตำบลบางพระ) โดยการจัดปั้นองค์พญายมให้เป็นรูปร่างที่สวยงาม เป็นสัดส่วน สง่า น่าดู น่านับถือ และน่าเกรงขาม มีการหาช่างที่มีฝีมือมาจัดปั้น (ปัจจุบันมีคุณประพันธ์ พลเมืองรัตน์ เป็นช่างปั้น) มีพิธีเบิกเนตรองค์พญายมก่อนเข้าขบวนแห่หนึ่งวัน มีการทำบุญเลี้ยงพระ ก่อพระทรายน้ำไหล ที่บริเวณหน้าบ้านนายทรวง เสริมศรี ในภาคเช้าของวันที่ ๑๘ เมษายน และภาคบ่ายจะตั้งขบวนแห่องค์พญายม โดยมีขบวนแห่ของเทศบาลบางพระ องค์การบริหารส่วนตำบลบางพระชุมชนเทศบาลบางพระ ๑๐ ชุมชน หน่วยงานราชการเอกชน ร้านค้า ร่วมจัดขบวนแห่กันอย่างยาวเหยียดเกือบ ๓๐ ขบวน

ปัจจุบัน เทศบาลตำบลบางพระได้เข้ามารับผิดชอบประเพณีการแห่พญายม โดยจัดในงานเทศกาลสงกรานต์ และงานแห่พญายม หนึ่งเดียวในโลก ของชาวบางพระในวันที่ ๑๘ เมษายนของทุกปี โดยตั้งงบประมาณรองรับ มีการประชาสัมพันธ์ทั่วประเทศ  เริ่มตั้งแต่การปั้นองค์พญายม การเบิกเนตรองค์พญายม การจัดขบวนแห่ การบวงสรวงพญายมโดยพราหมณ์หลวง  การปล่อยองค์พญายมลงทะเล

                กล่าวโดยสรุป ประเพณีการแห่พญายมของชาวบางพระได้จัดทำกันมานานจากคนรุ่นก่อนๆ ตกทอดกันมาจนถึงรุ่นปัจจุบันและจะสืบทอดไปสู่อนาคต เป็นประเพณีหนึ่งเดียวของชาติและของโลก เป็นประเพณีที่เกี่ยวกับความเชื่อถือในสิ่งเร้นลับ เป็นมรดกแห่งภูมิปัญญาของชาวบางพระ ที่มีคุณค่าที่ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ เมื่อวันที่ ๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๖ ซึ่งนับว่าเป็นที่น่าภูมิใจของชาวบางพระเป็นอย่างยิ่ง

วิทยาลัยเกษตรกรรมบางพระ เปิดการเรียนการสอน หรือก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2501

หลักสูตรที่เปิดสอน

1. หลักสูตร ปป.ก. (ประโยคครูประถมเกษตรกรรม) 3 รุ่น ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2501

2. หลักสูตร ปม.ก. (ประโยคครูมัธยมเกษตรกรรม) 18 รุ่น ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2505

3. หลักสูตร มศ.4-6 (มัธยมศึกษาตอนปลายสายอาชีพ เกษตรกรรม) 9 รุ่น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2505

4. หลักสูตร ปว.ส. (ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงเกษตรกรรม) 9 รุ่น ตั้งแต่ปี พ.ศ.2516

5. หลักสูตร ปท.ส. (ประกาศนียบัตรวิชาชีพเทคนิคชั้นสูง เกษตรกรรม) 1 รุ่น ปี พ.ศ. 2517

                                    (ต่อมาหลักสูตรนี้ ปรับเป็น วท.บ.เทคโนโลยีการเกษตร)

6. หลักสูตร วท.บ.เทคโนโลยีการเกษตร เปิดตั้งแต่ ปีพ.ศ.2518 ถึงปัจจุบัน

หมายเหตุ

                นักศึกษาหลักสูตร ปม.ก.รุ่น 12 และนักศึกษาหลักสูตร ปว.ส.รุ่น 1 เมื่อเรียนจบแล้วสอบเข้าเรียนหลักสูตร ปริญญาตรี ถือว่าเป็น วท.บ.รุ่น 1 ในปี 2518

การเปลี่ยนแปลงสถานะของสถาบัน

4 เมษายน 2501 – 26 กุมภาพันธ์ 2518 เป็นวิทยาลัยเกษตรกรรมบางพระ สังกัดกรมอาชีวศึกษา

27 กุมภาพันธ์ 2518 – 14 กันยายน 2531 วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา วิทยาเขตบางพระและคณะเกษตรศาสตร์ บางพระ

*วิทยาเขตบางพระ สอนระดับ ปม.ก. ส่วนคณะเกษตรบางพระ สอนระดับปริญญา บุคลากร สถานที่และครุภัณฑ์ใช้ร่วมกัน โดยสังกัดวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา ซึ่งมีฐานะเป็นกรม

15 กันยายน 2531 – 18 มกราคม 2548 เข้าสังกัดสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล กระทรวงศึกษาธิการ

19 มกราคม 2548 – ปัจจุปัน เป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล-ตะวันออก(มทร.) ซึ่งมี 4 วิทยาเขต ประกอบด้วย

                                1. วิทยาเขตบางพระ

                                2. วิทยาเขตจันทบุรี

                                3. วิทยาเขตอุเทนถวาย

                                4. วิทยาเขตจักรพงษภูวนารถ

                                โดยมีสำนักงานอธิการบดี อยู่ที่บางพระ

วิทยาเขตบางพระ ประกอบด้วย

                                1. คณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ

                                2. คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

                                3. คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

                                4. คณะสัตวแพทยศาสตร์

                                5. สถาบันเทคโนโลยีการบิน

                                6. สถานีวิจัยบัวและถ่ายทอดเทคโนโลยี

Download บทความคลิก

ขอบคุณ ผศ.นพ  บรรเจิด ให้ความอนุเคราะห์ข้อมูล